จันทรคราสชาดก จิตรกรรมฝาผนัง แห่ง วัดหนองบัว ท่าวังผา น่าน

ผมได้มีโอกาสมาวัดหนองบัวครั้งแรก ประมาณปี 53 ครั้งแรกที่ได้ชมจิตรกรรมฝาผนัง ที่วัดหนองบัว ก็เข้าใจว่า เป็นชาดก พุทธประวัติ ตามแบบวัดทั่วไป โชคดีเจอผู้รู้มาบอกว่า ภาพส่วนใหญ่เป็นเรื่อง จันทรคราส ชาดก บางส่วนเป็นพุทธประวัติ ได้อธิบายเรื่องราวภาพต่างๆ ที่ผนังอุโบสถ ไว้พอสังเขป ผมได้ถ่ายภาพไว้ แล้วหาข้อมูลเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ต ก่อนสิ้นปี 2555 ได้มีโอกาสกลับมาอีกครั้ง ได้พบกับนักท่องเทียว มาถ่ายภาพ ส่วนใหญ่ก็เดาว่าเป็นพุทธประวัติ เหมือนผมที่มาในครั้งแรก เมื่อไปถาม ลุงคนเฝ้าก็บอกว่าเป็น จันทรคราสชาดก เรื่องราวเก่าแก่ แต่ไม่ได้อธิบายอะไร เพิ่มเติม ทำให้ความเข้าใจไม่กระจ่าง ดังนั้นผม จึงคิดรวมเรื่องราวและอธิบายภาพที่อุโบสถ เผื่อใครที่เดินทางไปที่วัด ได้มีข้อมูลประกอบการถ่ายภาพ และชมภาพได้อย่างเข้าใจดียิ่งขึ้น หากข้อมูลส่วนใดผิดก็แจ้งให้ทราบด้วย เพื่อให้แก้ไขได้ถูกต้องยิ่งขึ้น

สำหรับ ประวัติของวัดและผู้วาดสามารถหาได้ทั่วไปตามเวปต่างๆ อยู่

ณ เมืองจำปา ซึ่งมีพญาปันธุเป็นเจ้าเมือง มีครอบครัวของสามีภรรยาคู่หนึ่งอาชีพทำไร่ทำสวน ฐานะยากจนมาก ต่อมาภรรยาได้ตั้งท้องและคลอดบุตรชายคนแรกเป็นผู้ชายได้เกิดสุริยุปราคาขึ้น บิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า“สุริยคราส” บิดามารดาได้เลี้ยงดูบุตรชายด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ จนบุตรชายคนแรกมีอายุได้ ๒ ปี มารดาจึงตั้งท้องบุตรคนที่ ๒ และคลอดออกมา เป็นผู้ชาย วันที่นางคลอดเกิดจันทรุปราคา จึงตั้งชื่อว่า “จันทรคราส” เด็กทั้งสองได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากบิดามารดา จนเติบใหญ่ และเป็นเด็กที่มีความแข็งแกร่ง

วันหนึ่งสองพี่น้องไปเก็บปูที่ทุ่งนามา ๔ ตัว แล้วนำมาเผากิน สุริยคราสได้แบ่งไว้ให้พ่อกับแม่ ๒ ตัว ตัวเองกับน้อง กินคนละตัว แต่จันทรคราสกินไม่อิ่มอ้อนวอนขอพี่อีกจนหมด พ่อกับแม่กลับมาเห็นกระดองปูเรี่ยราดจึงถามลูก ๆ พอรู้เรื่อง ด้วยความหิวพ่อจึงใช้ไม้ตีจันทรคราส แต่สุริยคราสสงสารน้องจึงพาน้องหนีออกจากบ้าน และพลัดหลงอยู่ในป่า

สองพี่น้องอยู่ในป่าหลายวัน ได้เห็นงูกับพังพอนสู้กัน เมื่องูตายพังพอนก็ไปคาบเปลือกไม้ชนิดหนึ่ง โดยเคี้ยวก่อนจะใส่ในปากงูทำให้งูฟื้นขึ้นมาแล้วสู้กันต่อ ครั้นพังพอนตายงูก็เคี้ยวเปลือกไม้ใส่ปากพังพอนบ้าง พอพังพอนฟื้นสัตว์ทั้งสองก็หายเข้าไปในป่า สองพี่น้องจึงเก็บเปลือกไม้ไว้และพากันเดินทางต่อไป

เด็กทั้งสองเดินทางมาพบพระฤๅษีกำลังนั่งวิปัสสนาอยู่ใต้ต้นไม้ ขณะนั้นมีอีกาตัวหนึ่งอยู่บนต้นไม้และถ่ายอุจจาระตรงหัวพระฤๅษี พระฤๅษีจึงสาปให้อีกาตาย เด็กทั้งสองอยากทดลองเปลือกไม้นั้น สุริยคราสจึงเคี้ยวเปลือกไม้ใส่ปากอีกา อีกาฟื้นขึ้นมาและสำนึกในบุญคุณของเด็กทั้งสอง จึงอาสาหาอาหารและผลไม้ให้กินทุกวัน

เมื่ออาหารและผลไม้หมดป่า อีกาจึงนำเด็กทั้งสองไปทิ้งไว้เมืองยักษ์ เพื่อให้เป็นอาหารของยักษ์ต่อไป ส่วนอีกาขโมยเนื้อจากเมืองยักษ์ไป ยักษ์จึงจับอีกากินเป็นอาหาร

สองพี่น้องถูกหัวหน้ายักษ์จับตัวไปขังไว้ เพื่อเป็นอาหารในการจัดงานศพเมียของตน โดยขังไว้กับศพเมียยักษ์ เด็กทั้งสองจึงช่วยเหลือด้วยการเคี้ยวเปลือกไม้ใส่ปากเมียของยักษ์ เมื่อเมียยักษ์ฟื้นขึ้นมา ยักษ์จึงเลิกจัดงาน ทำให้ยักษ์ตนอื่น ๆ ไม่พอใจ จึงเกิดแย่งชิงเด็กทั้งสอง เมียของยักษ์จึงพาสองพี่น้องหลบหนีไปที่เมืองกาสี

ณ เมืองกาสี (กาสิกนคร) พญาสุคะโตผู้ครองนคร มีธิดาชื่อสุจาติงสา (สุทธชาติดึงสา) ได้สิ้นพระชนม์เพราะถูกงูพิษกัด พญาสุคะโตจึงประกาศว่าถ้าใคร สามารถช่วยชีวิตพระธิดาได้ จะให้รางวัล ส่วนสุริยคราสและจันทรคราสเมื่อถึงเมืองกาสี มีเศรษฐีได้รับเลี้ยงไว้ ครั้นทราบข่าว สุริยคราสอาสาไปช่วยชีวิตด้วยเปลือกไม้ พญาสุคะโตจึงยกพระธิดาให้กับสุริยคราส พร้อมทั้งให้ครองเมืองกาสีต่อจากพระองค์

( ไม่แน่ใจ:พระธิดาสุจาติงสา ของพญาสุคะโต เมืองกาสีถูกงูพิษกัด)

จันทรคราสได้อยู่กับเศรษฐีต่อไป วันหนึ่งจันทรคราสทราบข่าวว่าลูกเจ้าของเรือที่จะเดินทางไปค้าขายกับเมืองอินตะปะถะ(เมืองอินทปัตนคร) เสียชีวิตเพราะถูกเสือกัดจึงได้นำเปลือกไม้ไปช่วยและฟื้นขึ้นมา เจ้าของเรือจึงยกเรือให้จันทรคราส และจันทรคราสก็ออกเดินทางไปยังเมืองอินตะปะถะ

เมืองอินตะปะถะนั้นพญาพรหมจักร(พระเจ้าพรหมจักรวรรดิ) เป็นผู้ครอง มีธิดาที่เพิ่งประสูติชื่อเตวธิสังกา (พระธิดาเทวธีสังคา) โหรได้ทำนายว่าเมื่อนางอายุถึง ๑๖ปี จะถูกเสือกัดตาย พญาพรหมจักรจึงสั่งให้ดูแลพระธิดาไม่ให้ออกจากเมือง จนกระทั่งนางอายุ ๑๖  ปี ได้เห็นเขี้ยวเสือจึงหยิบมาเล่น แล้วถูกเขี้ยวเสือทิ่มที่เท้าเกิดอักเสบจนเสียชีวิต พญาพรหมจักรประกาศให้รางวัลผู้ที่ช่วยชีวิตธิดาของตน ขณะนั้นจันทรคราสมาถึงเมืองอินตะปะถะ ทราบข่าวจึงอาสาเข้าช่วยเหลือนางด้วยเปลือกไม้จนกระทั่งฟื้น ครั้นนางเห็นจันทรคราสก็เกิดความรักขึ้น พญาพรหมจักรจึงได้จัดพิธีอภิเษกสมรสและแต่งตั้งให้จันทรคราสเป็นอุปราช

(จันทรคราสช่วยแก้ไขให้ เตวธิสังกา ธิดาของพญาพรหมจักรแห่งเมืองอินตะปะถะ ฟื้นคืนชีพ จากการที่ถูกเขี้ยวเสื้อทิ่มอักเสบ บางแห่งกล่าวไว้ว่า  นางเตวธิสังกา หรือ นางเทวธิสังกาถูกมีดเล็กด้ามเขี้ยวเสือ เกิดบาดแผลเล็กน้อยแต่อาการกำเริบขึ้นเสวยทุกขเวทนา 3 ปี ก็เสียชีวิต ที่มา:cm77.com)

เมื่อพญาพรหมจักรสวรรคต ขุนนางจึงเชิญให้จันทรคราสปกครองเมืองอินตะปะถะสืบต่อมา

หนึ่งปีผ่านไปจันทรคราส คิดถึงสุริยคราสผู้เป็นพี่ชาย จึงให้ขุนนางเตรียมเรือและออกเดินทางไปเมืองกาสีพร้อมนางเตวธิสังกา

ระหว่างการเดินทางเกิดพายุ เรือสำเภาเกิดล่มกลางทะเล ทำให้จันทรคราสและนางเตวธิสังกาพลัดพรากจากกัน

(เรือสำเภาที่จันทรคราสและนางเตวธิสังกาโดยสารล่มกลางทะเล)

หลังจากพลัดพรากจากจันทรคราสแล้ว นางเตวธิสังการ้องไห้คร่ำครวญเดินไปพบบ้านหลังหนึ่งในเมืองอนุปะมะ (เมืองอนุกรม) ยายปริสุทธิ (ยายปาริสุทธี)เจ้าของบ้านจึงให้นางอาศัยอยู่ด้วย ข่าวทราบถึงเจ้าผู้ครองนครคือ พญาสุตัสสะนะจักร(สุทัสสนจักร) เพราะความงามของนาง พระองค์จึงให้ขุนนางไปขอมาเป็นมเหสี ยายปริสุทธิทราบข่าวจึงปฏิเสธและนำนางเตวธิสังกาไปบวชชี ณ สำนักแม่ชีในเมืองอนุปะมะ

พญาสุตัสสะนะจักรเมื่อผิดหวังจากนางเตวธิสังกา ได้ให้ขุนนางไปขอพระธิดาของพญาธัมมะขัติผู้ครองเมืองอนุราธะ ชื่อนางพรหมจารี พญาธัมมะขัติจึงยกพระธิดาให้ เมื่ออยู่กินกันมาไม่นานได้เกิดการทะเลาะวิวาทกันบ่อย ๆเพราะพญาสุตัสสะนะจักร เป็นผู้ที่มักมากในกามคุณ หวังจะได้นางเตวธิสังกา มาเป็นอนุภรรยาอีกคน ด้วยความโกรธพญาสุตัสสะนะจักรสั่งให้ขุนนาง นำนางพรหมจารีใส่แพปล่อยลอยน้ำไป

จันทรคราส เมื่อขึ้นฝั่งแล้วก็เดินทางเข้าไปในป่า เห็นครุฑกำลังคาบงูอยู่ (บางตำราว่า พญาครุฑ กับ นาค) ครุฑเห็นคนเดินมาจึงปล่อยงูตกลงมา จันทรคราส จึงรีบเคี้ยวเปลือกไม้ใส่ลงไปในปากงู พองูฟื้นเลื้อยหายเข้าไปในป่า แล้วแปลงกายเป็นเด็กน้อย จันทรคราสเดินเข้าไปหาเด็กน้อย เด็กได้บอกว่าเขาคืองูตัวที่ท่านได้ช่วยชีวิตเอาไว้ และขอตอบแทนบุญคุณท่านโดยหากมีความต้องการสิ่งใดจะนำมาให้ จันทรคราส บอกว่าไม่มีความประสงค์ สิ่งใด แต่อยากจะพบภรรยาซึ่งพลัดพรากจากกันเมื่อตอนสำเภาแตก เด็กน้อยจึงมอบแก้ววิเศษให้แก่ จันทรคราส จันทรคราสอมลูกแก้วปรากฏว่าสามารถมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นดิน รวมทั้งบิดามารดาที่เมืองจำปา พี่ชายที่เมืองกาสีและนางเตวธิสังกำลังบวชเป็นชีที่เมืองอนุปะมะ จากนั้นเด็กน้อยได้หายตัวไป

(จันทรคราสเห็นครุฑจับงูบินผ่านมา จึงทำให้ครุฑตกใจ ปล่อยงูตกลงมาตาย  จันทรคราสเคี้ยวเปลือกไม้ช่วยชีวิตงู งูกลายเป็นด็กน้อย มอบแก้ววิเศษแก่จันทรคราส)

(::มีคนบอกว่า เป็นครุฑแปลกแตกต่างจากครุฑในจิตรกรรมแบบไทยๆ::)

จันทรคราสเดินทางต่อไปพบกับพญาทอน (บางตำราว่า วิทยาธร) นอนจมกองเลือดเนื่องจากถูกทำร้าย แต่เขาไม่สามารถช่วยพญาทอนได้ เพราะเปลือกไม้ที่นำติดตัวมาหมดแล้ว พญาทอนขอให้ช่วยจัดการเผาศพหลังจากที่ตายและมอบดาบวิเศษให้ป้องกันตัว เวลาหิวให้เอาปลายดาบแช่น้ำผึ้งกินแทนข้าวได้ พร้อมกับร้องเท้าวิเศษอีกคู่หนึ่ง เวลาสวมใส่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ เมื่อสั่งลาเสร็จ พญาทอนก็สิ้นลมหายใจ หลังจากจัดศพให้เป็นที่เรียบร้อย จึงสวมรองเท้าวิเศษและสะพายดาบวิเศษเหาะไปยัง เมืองสังกัสสะนคร

 

(รูปกลางบน:พญาทอนที่ถูกทำร้ายสั่งเสียจันทรคราสก่อนตายพร้อมมอบรองเท้าวิเศษและดาบวิเศษ  รูปกลางล่าง:จันทรคราสเผาศพพญาทอนตามคำร้องขอ รูปขวา:จันทรคราสเหาะด้วยรองเท้าวิเศษ)

จันทรคราสเข้าไปพักผ่อนอยู่ในถ้ำ ขณะนั้นมีกระแสน้ำพัดเอาหญิงสาวสามคนลอยมาติดอยู่ที่หน้าถ้ำ

(จันทรคราสพักในถ้ำ พบลูกสาวเศรษฐีสามคนลอยมาติดหน้าถ้ำ)

ภายหลังทราบว่าเป็นลูกสาวของเศรษฐีเมืองสังกัสสะนคร ชื่อปทุมมา ทิพย์โสดา และสุกัญทา (ประทุมบุปผา ทิพยโสตเทวี และสุคนธเกศี) ฝ่ายเศรษฐีทราบข่าวว่าลูกสาวหายได้ระดมคนค้นหาแต่ไม่พบ จึงไปหาโหรให้ทำนาย และโหรบอกว่านางทั้งสามคนได้หลงทางไปไกล อีกประมาณหนึ่งเดือนจะมีชายหนุ่มนำมาส่งถึงบ้าน

ต่อมาจันทรคราสได้พานางทั้งสามเดินทางเข้าป่า เพื่อที่จะพานางไปส่งถึงบ้านจนถึงเขตเมืองสังกัสสะนคร ผ่านโจรป่า ผ่านยักษ์ จนมาพบพรานป่า กำลังออกล่าสัตว์จึงได้สอบถามเกี่ยวกับเส้นทางที่จะไปบ้านของสามสาว

 

(ทางขวา: จันทรคราสสอบถามทางกับพรานป่า เพื่อนำลูกสาวเศรษฐี ปทุมมา ทิพย์โสดา และสุกัญทา ไปส่ง ทางซ้าย:จันทรคราสพานางทั้งสาม มาถึงบ้านศรษฐี)

ทั้งสี่คนเดินทางต่ออีกประมาณ 7 วัน จึงถึงบ้านของเศรษฐี สองเศรษฐีสามีภรรยาดีใจมากที่เห็นลูกสาวอีกครั้ง จึงได้ยกลูกสาวทั้งสามให้เป็นเมียของจันทรคราส

จันทรคราสคิดถึงนางเตวธิสังกา จึงสวมรองเท้าและอมลูกแก้ววิเศษ สะพายดาบเหาะไปถึงแม่น้ำจิระวดี ได้พักอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำ เห็นผู้หญิงนั่งอยู่บนแพและร้องไห้ จันทรคราสลงไปดึงแพเข้าฝั่งและถามได้ความว่า ชื่อนางพรหมจารีถูกพญาสุตัสสะนะ (สุทัสสนจักร,สทัศนจักร)พระสวามีเอาใส่แพลอยน้ำ นางได้ขอให้พาไปส่งพ่อแม่ที่เมืองอนุธาระ(เมืองอนุราช) ด้วยความสงสาร จันทรคราสชวนให้นางพักค้างคืนที่นั่นก่อน เมื่อนางหลับสนิทจึงอุ้มเหาะไปยังเมืองอนุธาระ ขณะที่เหาะไปนั้นนางได้ฝันไปว่ามีเทพบุตรเอาแก้วให้อม สามารถมองเห็น เมืองอนุธาระ

นางสุละโยธา (นางสุริยโยธา) แห่งเมืองปัญจา เป็นแม่เลี้ยงนางพรหมจารี ได้ฟังเรื่องต่าง ๆ นางโกรธแค้นมากที่ทำให้นางพรหมจารีต้องตกระกำลำบาก จันทรคราสได้เรียนวิชาอาคมจากนางสุละโยธา เมื่อส่งนางพรหมจารีถึงวังของพญาธัมมะขัติ(พญาธรรมขันตี)ผู้เป็นบิดาแล้ว พญากาวินตะ (พญากาวิน)ผู้ครองเมืองไกยะราชได้ส่งสาสน์และเครื่องราชบรรณาการมาสู่ขอนางจากพญาธัมมะขัติ แต่นางพรหมจารีปฏิเสธ เพราะยังเป็นหนี้บุญคุณจันทรคราสที่เคยช่วยชีวิต ในที่สุดพญาธัมมะขัติจึงได้ยกนางให้จันทรคราส

ต่อมาขุนนางได้มาอัญเชิญนางพรหมจารีไปเป็นมเหสีของพญากาวินตะ แต่นางปฏิเสธเช่นเคยและได้บอกแก่ขุนนางไปว่า แม้พญากาวินตะจะตักน้ำมาล้างเท้าให้ทุกวันหรือเอาไปบูชาดุจพระเจ้า นางก็ไม่ยอมทั้งสิ้นพวกขุนนางจึงนำความไปกราบทูล พญากาวินตะโกรธแค้นเป็นอย่างยิ่ง จึงยกทัพไปถึงเมืองอนุธาระ นางพรหมจารีไม่หวั่นวิตก ได้เตรียมทัพซึ่งเป็นผู้หญิงล้วน ๆ ต่อสู้กับพญากาวินตะโดยใช้อาคมต่อสู้

 

(ด้านซ้าย กองทัพสตรีล้วนของนางพรหมจารี ต่อสู้กับกองทัพพญากาวินตะ โดยนางพรหมจารีควงดาบสองมือเหยียบหัวช้างเข้าสู้ต่อกรกับพญากาวินตะบนหลังช้าง เป็นภาพที่ผมประทับใจมาก )

พญากาวินตะกระโดดขึ้นนั่งคอช้างคู่บารมีสู้รบกันบนหลังช้าง ในที่สุดต่างฝ่ายต่างหมดแรง ต่อมาพญากาวินตะถูกขุนนางจับตัวไว้ได้และ ทรมานด้วยเหล็กเผาไฟแดงฉานทาบฝ่าพระบาทจนสุกไหม้จึงยอมแพ้ (บางตำราว่า พญากวินตะใช้เวทย์มนต์ซ่อนกองทัพมาจับนางพรหมจารีแต่ถูกจับได้  โดนมัดเหมือนผูกปู)

จันทรคราสคิดถึงนางเตวธิสังกาและขออนุญาตนางพรหมจารีกับพญาธัมมะขัติไปตามหา นางเตวธิสังกา ได้ไปอาศัยกับยายปริสุทธิก่อน วันหนึ่งนางเตวธิสังกาได้ออกจากสำนักมาเยี่ยมยายปริสุทธิ พอทราบเรื่องราวที่ยายเล่าให้ฟัง จึงเชื่อว่าชายคนนั้นคือจันทรคราสพระสวามีของตนเองแน่ ๆ จึงขอลาสิกขากับอาจารย์ด้วย ความรักอันดูดดื่มในอดีต นางถึงกับวิ่งเข้าไปสวมกอดร้องไห้ละล่ำละลัก ยายปริสุทธิจึงผูกข้อมือให้ทั้งสองคน

พญาสุตัสสะนะจักรรู้ข่าวการลาสิกขาของนางเตวธิสังกา พระองค์ทรงพิโรธเพราะเคยสัญญากับยายปริสุทธิแล้วหากนางลาสิกขาเมื่อใดให้บอกทันที จะมาสู่ขอเป็นมเหสี ยายปริสุทธิผิดสัญญาจึงถูกปรับเป็นช้างร้อยเชือก วัวร้อยตัว ม้าร้อยตัว เงินและทองคำอีกต่างหาก จันทรคราสจึงเนรมิตช้าง ม้า วัว เงินทองจนครบจำนวนแล้วสั่งให้เสนาอมาตย์มารับเอาไป ขณะที่เสนาอมาตย์กำลังเปิดคอกสัตว์นั้น สัตว์เหล่านั้นได้บินหนีไปหมด คงเหลือเฉพาะเงินกับทองเท่านั้น

(เมื่อเสนาอมาตย์ของ พญาสุตัสสะนะจักร เปิดกรง เหล่าช้างร้อยตัว วัวร้อยตัว ม้าห้าร้อยตัว ที่จันทรคราสเนรมิตมา ก็บินไปสิ้น ::สุดยอดจินตนาการเลยครับ ยูนิคอนก็ยูนิคอนเถอะ เจอช้าง กับวัวบินก็จ๋อยเลย::)

พญาสุตัสสะนะจักร รู้ข่าวว่าพญาพันธุ (พระยาพุทธโคษา) เจ้าเมืองกันทะรัฐ (เมืองคันธาระ) มีธิดาสวยชื่อ นางอุตตะมะธานี(อุตมธานี) จึงให้ขุนนางไปสู่ขอเป็นมเหสี ขณะนั้นกองทัพของนางพรหมจารีบุกมาถึงเมืองอนุปะมะ (เมืองอนุกรม) พอดี

(กองทัพนางพรหมจารีเดินทางไปทำสงครามกับพญาสุตัสสะนะจักร แห่งเมืองอนุปะมะ)

นางได้ส่งสาสน์ท้าให้พญาสุตัสสะนะจักรมาทำสงคราม เมื่อกองทัพบุกประชิดเมืองนางจึงสั่งให้ยิงปืนถล่มกำแพงเมืองจนพังทลาย กระสุนปืนถูกวังของพญาสุตัสสะนะจักร ทหารจับตัวพญาสุตัสสะนะจักรได้แล้วนำไปประหารชีวิต

เมื่อเสร็จสิ้นศึกสงครามนางพรหมจารีได้ยกเมืองให้จันทรคราสกับ นางเตวธิสังกาปกครองต่อไป

ฝ่ายขุนนางทั้งหลายที่ไปสู่ขอนางอุตตะมะธานี รู้ข่าวพญาสุตัสสะนะจักรถูกประหารชีวิต จึงยกนางอุตตะมะธานี (นางอุดมธานี) ให้เป็นมเหสีของจันทรคราสอีกคนหนึ่ง ต่อมานางได้ตั้งครรภ์จันทรคราสดีใจมากที่จะได้ทายาทไว้สืบสกุล จึงได้มอบหมายให้นางเตวธิสังกาและขุนนางคอยปฏิบัติรับใช้เอาใจใส่เป็นพิเศษ ต่อมาเมืองกันทะรัฐได้เกิดศึกสงคราม จันทรคราสจึงอาสาไปช่วยรบและได้มอบให้ขุนนางช่วยดูแลเมืองอนุปะมะแทน

หลังจากเสร็จสิ้นสงครามซึ่งใช้เวลาถึง ๓ ปี จันทรคราสก็กลับถึงเมืองอนุปะมะทราบว่า นางอุตตะมะธานีคลอดบุตรเป็นชาย จันทรคราสปลื้มใจมาก และให้โหรทำนายลักษณะพร้อมทั้งตั้งชื่อให้ว่า“ทุกขัติยะวงศา” เมื่อเจ้าชายเจริญวัย จันทรคราสได้มอบเมืองอนุปะมะให้แก่เจ้าชายและนางอุตตะมะธานี ปกครองต่อไปส่วนจันทรคราสกับนางเตวธิสังกา กลับไปครองเมืองอินตะปะถะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ นางเตวธิสังกาด้วยความสุข.

ที่มา:ส่วนหนึ่งจาก หนังสืออ่านประกอบ สื่อสารภาษา ท่าวังผาน่าอยู่ คู่เมืองน่าน  จิตรกรรมสูงค่าฝาผนังวัดหนองบัว เรื่อง….จันทรคราสชาดก
โดย : นัทธมน คำครุฑ